วิธีคำนวณหาค่าวัตต์ (W = Watts) สำหรับผู้ใช้ตามบ้านทั่วไปแบบง่ายๆ
เมื่อต้องการนำเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างประเทศมาใช้งานซักเครื่อง สิ่งแรกที่เราควรต้องรู้และคำนึงถึง คือ ค่าวัตต์ของเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นๆ เพราะเมื่อนำมาใช้กับไฟบ้านเรา ค่าไฟต่างกัน จะต้องใช้หม้อแปลงไฟ และราคาหม้อแปลงแต่ละตัวก็ไม่ใช่ถูกๆ
บทความนี้จะแนะนำการคำนวณค่าวัตต์ของเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ แบบง่ายๆ บ้านๆ คร่าวๆ พอใช้งานได้จริง ไม่ละเอียด ไม่เจาะลึก ไม่เครียด(จริงๆ)
ในเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป ข้อความที่เรามักจะพบเห็นในตัวสินค้าจะมีค่าประมาณนี้
1. V = Volts (โวลต์) = แรงดันไฟฟ้า
2. A = Amp (แอมป์) = ปริมาณกระแสไฟฟ้า
3. W = Watts (วัตต์) = กำลังไฟฟ้าที่ใช้งานจริง
4. VA = Volt-Ampere (โวลต์แอมแปร์) = กำลังไฟฟ้าที่จ่ายให้เครื่องใช้ไฟฟ้า *มักจะพบคำนี้ในหม้อแปลงไฟฟ้า หรือ เครื่องสำรองไฟ
วิธีคำนวณหาค่าวัตต์แบบง่ายๆ คือ เอาค่าโวลต์ (V) ไปคูณกับ ค่าแอมป์ (A) W = V x A
* จริงๆ มันต้องมีตัวแปรอื่นเพิ่มเติมมาคำนวณอีก แต่ในฐานะของยูสเซอร์ แค่ผู้ใช้ตามบ้าน ทราบแค่นี้ก็เพียงพอต่อการนำข้อมูลไปหาซื้อหม้อแปลงไฟฟ้ามาใช้งานได้แล้ว
เมื่อลองดูด้านหลังเครื่องใช้ไฟฟ้า เราจะพบรายละเอียดประมาณนี้
*ภาพบางส่วนได้มาจากสเปคเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ของลูกค้า ที่ได้ส่งภาพมาให้ทางร้านช่วยแนะนำจัดสเปคหม้อแปลงไฟฟ้าให้
จากภาพนี้ เป็น เตารีดไฟฟ้า ระบุค่าโวลต์อยู่ที่ 220-240V บอกมาตรงๆ เลยว่า ใช้ไฟ 1950-2320 วัตต์ (W)
(ไฟบ้านเรา 220V เครื่องนี้เสียบไฟบ้านเราได้เลย ไม่ต้องหาซื้อหม้อแปลงไฟ และแบบนี้บอกค่าวัตต์มาแล้วสบายไม่ต้องใช้สูตรมาคำนวณค่าวัตต์แต่อย่างใด)
จอคอมพิวเตอร์ LCD DELL เครื่องนี้ ระบุค่าโวลต์อยู่ที่ 100-240V คือ เสียบใช้ไฟบ้านเราได้ (220V) และ นำไปเสียบใช้ในต่างประเทศที่ค่าไฟ 100-110-120V ได้ด้วย ส่วนค่าแอมป์ (A) อยู่ที่ 2.5A เมื่อนำมาเสียบใช้ไฟที่บ้านเรา ก็นำ ค่าโวลต์ (V) มาคูณกับ ค่าแอมป์ (A) จะได้ค่าวัตต์โดยประมาณที่ 220x2.5 = 550W
ข้างบนนี้น่าจะเป็นหม้อแรงดันจากอเมริกา (แต่ Made in China) ใช้ไฟ 120V ระบุค่าวัตต์มาให้แล้วที่ 1000W ถ้าใช้กับไฟบ้านเราที่ประเทศไทย ก็จะแนะนำให้เลือกซื้อหม้อแปลงไฟที่ใช้กับวัตต์สูงๆ เกินมากหน่อย (ที่ 1500VA ขึ้นไป) เพราะเป็นอุปกรณ์ทำอาหารที่ให้ความร้อน
สเปคเก้าอี้นวดไฟฟ้าเครื่องนี้ ระบุว่า ใช้ไฟที่ 110V หรือ 120V ก็ได้ และระบุค่าวัตต์มาให้แล้วที่ 180 วัตต์ (W)
ในบางครั้งเราอาจจะพบหน่วย mA (มิลลิแอมป์) ซึ่งเป็นหน่วยเล็กกว่า A (แอมป์)
1A = 1000 mA หรือ ได้ค่า mA เท่าไหร่ ให้เอา 1000 ไปหาร ก็จะได้เป็นค่า A (แอมป์)
ตัวอย่าง เช่น 2000 mA = 2000/1000 = 2A (แอมป์)
และบางทีเราอาจจะพบค่าไฟที่ระบุหน่วยเป็นแรงม้า (HP) ซึ่งทำให้เราถึงกับมึนไปเลยทีเดียว มีวิธีคำนวณหาค่าวัตต์จากแรงม้า (HP) ได้ง่ายๆ จากบทความนี้ >> 1 แรงม้าเท่ากับกี่วัตต์กันเอ่ย?
การคำนวณค่าวัตต์ เพื่อเลือกซื้อหม้อแปลงไฟฟ้า สำหรับมาใช้งาน ควรเลือกซื้อให้เกินจากค่าจริงที่คำนวณได้ อย่างน้อย 15-20% ถ้าเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นๆ เปิดใช้งานยาวนาน ใช้งานติดต่อกันหลายชั่วโมง ควรเผื่อค่า W (วัตต์) ให้มาก เพื่อยืดอายุการใช้งานหม้อแปลงไม่ให้ร้อนจนเกินไป โดยเฉพาะอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดความร้อนโดยตรง เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว เช่น เตาอบ หม้อตุ๋น หม้อนึ่งแรงดัน ควรเลือกเผื่อไว้ 150%-200% ยิ่งเกินไว้มากเท่าไรยิ่งดี
แต่ถ้าราคาหม้อแปลงไฟแพงกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จะซื้อ อันนี้ก็แล้วแต่พ่อแม่พี่น้องจะคิดคำนวณได้ว่า "คุ้มไหม" ที่จะซื้อเครื่องไฟฟ้าจากต่างประเทศมาใช้ หรือ ควรลองหาซื้อจากบ้านเราดี เพราะ "หม้อแปลงไฟ ยิ่งวัตต์สูง ราคาก็ยิ่งสูง"